เคล็ดลับมืออาชีพ

คำแนะนำในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้สวยสมบูรณ์แบบจากเวรอน อัง

by โดย เวรอน อัง

สถาปัตยกรรมนั้นไม่เพียงตอบสนองประโยชน์ใช้สอย แต่ยังเป็นเหมือนศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและสังคม หากคิดง่าย ๆ การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมก็คือการถ่ายภาพของสิ่งปลูกสร้าง แต่การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมมีอะไรมากกว่านั้น มันคือกิจกรรมเชิงศิลปะ และด้วยเหตุนั้น มันจึงต้องคงความน่าสนใจในสายตาของผู้ชมไว้เสมอ แต่จะทำได้เช่นไร

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 24 มม. | 1/200 วินาที | F13 | ISO 100

สำหรับเวรอน อัง ช่างภาพสถาปัตยกรรมในสิงคโปร์ การถ่ายภาพชิ้นงานศิลปะที่โดดเด่นตามท้องถนนต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นด้วยนอกเหนือจากการยืนถ่ายภาพที่หน้าตัวอาคาร “ถ้าเป็นการถ่ายภาพเล่น ๆ ฉันจะแค่มองหาตึกที่มีส่วนด้านหน้าหรือรายละเอียดที่น่าสนใจ จากนั้นก็พยายามถ่ายออกมาให้มันดูน่าสนใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับการถ่ายภาพที่เป็นงานจะมีความซับซ้อนกว่านั้น ฉันมักค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาปนิกและผลงานของเขาก่อนเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจถึงแรงบันดาลใจและมองหาคุณลักษณะพิเศษของตึก” เวรอนเล่า  

“ในวันถ่ายจริง ฉันจะเดินดูทุกส่วนของตัวตึกเพื่อจะได้ไม่พลาดมุมมองที่น่าสนใจแม้เพียงสักจุด ฉันมักไปยังตึกที่จะถ่ายงานสองครั้งต่อวัน คือตอนเช้าและตอนบ่ายแก่ ๆ เพื่อจะได้เห็นตึกที่อยู่ท่ามกลางแสงในช่วงเวลานั้นของวันค่ะ”  

คำแนะนำเกี่ยวกับกล้องจากเวรอน   

ในการถ่ายภาพ ทักษะและอุปกรณ์ต้องไปด้วยกัน ความเก่งกาจในการถ่ายภาพหมายถึงการรู้วิธีที่จะเล่นกับวัตถุ และการมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้มุมมองจากความคิดสร้างสรรค์นั้นกลายเป็นจริง  

การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจำเป็นต้องมีชุดอุปกรณ์ที่เหมาะสมและความร่วมมือจากองค์ประกอบภายนอกอย่างเช่นช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน และสภาพอากาศ เมื่อทำการถ่ายภาพภายนอกอาคาร เวรอนจะตั้งค่า ISO ไว้ที่ 100 ในโหมดแมนนวล (ยกเว้นเมื่อเป็นการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย) เพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพของภาพถ่าย สำหรับการถ่ายภาพในกรณีอื่น ๆ เธอมักตั้งค่าตามสภาพการณ์ในขณะนั้นโดยไม่ได้มีการตั้งค่าตายตัว  

Alpha 7R IV | FE 85mm F1.4 GM | 1/250 วินาที | F14 | ISO 100

เวรอนเล่าว่าเธอชอบถ่ายภาพโดยใช้เลนส์ FE 12-24mm F2.8 GM (SEL1224GM) เนื่องจากจะสามารถเก็บภาพสวย ๆ ของตึกโดยรวมได้อย่างครบถ้วน ในขณะเดียวกัน หากเป็นการถ่ายภาพรายละเอียดโครงสร้างที่ละเอียดประณีตหรือภูมิทัศน์เมืองที่มีความซับซ้อนให้เห็นได้อย่างทั่วถึง เธอมักเลือกใช้เลนส์ FE 85mm F1.4 GM (SEL85F14GM)  

กล้อง Alpha 7R IV ความละเอียด 61 ล้านพิกเซลมีฟังก์ชัน Pixel Shift Multi Shooting ซึ่งนำภาพ 16 เฟรมมาผสานรวมกัน ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและสีที่ถูกต้องแม่นยำ “กล้อง Alpha 7R IV ช่วยให้ฉันทำการตัดต่อที่สำคัญ ๆ ได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของภาพ ความคมชัดของภาพยังช่วยให้ฉันพิมพ์ภาพที่มีคุณภาพสูงได้ด้วย”  

คุณสมบัติของเซ็นเซอร์ในกล้อง Alpha 7R IV ช่วยรับประกันถึงผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในทุกสถานการณ์ เวรอนเล่า แม้ว่าจะเป็นการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยด้วยโหมดอัตโนมัติ ช่างภาพก็เพียงแค่ต้องใส่ใจกับการจัดวางองค์ประกอบของภาพเท่านั้น ด้วยรู้ดีว่าพวกเขาสามารถเชื่อใจอุปกรณ์ว่าจะให้ภาพที่มีคุณภาพระดับสูงได้เสมอ  

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 18 มม. | 3.2 วินาที | F13 | ISO 100

“เมื่อได้ภาพที่มีองค์ประกอบสวยงามลงตัว คุณก็พร้อมแล้วที่จะทดลองใช้งานฟังก์ชันอื่น ๆ ของกล้อง อย่างเช่น การเปิดรับแสงนานขึ้น การแพนกล้องเพื่อถ่ายภาพสนุก ๆ หรือโบเก้สวย ๆ สำหรับภาพบุคคล” เวรอนถ่ายทอดเคล็ดลับส่วนตัวของเธอให้แก่ช่างภาพมือใหม่ 

3 ขั้นตอนในการสร้างสรรค์ภาพที่เรียบง่ายแต่น่าประทับใจ 

1. หาแสงธรรมชาติสวย ๆ  

ในการถ่ายภาพ หนึ่งในสิ่งสำคัญสูงสุดที่เวรอนมองหาคือแสงธรรมชาติสวย ๆ ด้วยเหตุนี้ การทำการบ้านและดูพยากรณ์อากาศก่อนที่จะออกไปยังสถานที่ถ่ายภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เวรอนเล่าให้ฟังว่า เคยมีบางกรณีที่เธอต้องกลับไปสถานที่เดิมทุกวันเผื่อว่าจะบังเอิญได้แสงธรรมชาติในแบบที่เธอต้องการ  

ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม สภาพอากาศคือองค์ประกอบที่มีความสำคัญที่สุด ช่างภาพต้องมีความอดทนจึงจะได้แสงธรรมชาติในแบบที่คุณวาดภาพไว้ อย่างไรก็ตาม งานของเวรอนแสดงให้เห็นแล้วว่าท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้มาก็คุ้มค่าจริง ๆ  

“สองปีก่อน ฉันมีโปรเจกต์ของสนามบินชางงี ตอนนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝนด้วย เพราะอย่างนั้นฉันเลยต้องไป ๆ มา ๆ อยู่ราวสามสัปดาห์เพื่อให้ได้แสงธรรมชาติที่เหมาะกับภาพถ่ายของฉัน บางครั้งฉันก็คิดว่าการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเป็นงานที่ลำบากนะ” เธอพูด  

2. เล่นกับการจัดวางองค์ประกอบ

“สำหรับฉัน การจัดวางองค์ประกอบมีส่วนอย่างมากในการสร้างสรรค์ภาพที่ดีค่ะ คุณสามารถถ่ายภาพที่มีความคมชัดได้โดยใช้ทักษะด้านเทคนิคที่ดี แต่ถ้าคุณไม่สามารถจัดวางองค์ประกอบได้ ภาพของคุณก็ไม่อาจจะโดดเด่นสะดุดตาได้เลย ซึ่งมันจะเป็นเพียงภาพธรรมดา ๆ ที่ถ่ายได้คมชัดดีภาพหนึ่ง” เธอบอก “นอกจากนี้ ถ้าคุณมีทักษะที่ดีในการจัดวางองค์ประกอบของภาพแต่ไม่มีทักษะในการจับโฟกัส เช่นนั้นก็เปล่าประโยชน์ไม่ต่างกัน เพราะภาพจะเบลอค่ะ ดังนั้น ในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายดี ๆ จึงต้องมีทั้งทักษะในการจัดวางองค์ประกอบของภาพและทักษะด้านเทคนิคที่ดีควบคู่กันไป”  

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 12 มม. | 1/80 วินาที | F11 | ISO 100

การเล่นกับองค์ประกอบที่มีอยู่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพที่สวยจนน่าตะลึงได้ หลักฐานคือภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่เวรอนใช้เรขาคณิตของโครงสร้างจนเกิดเป็นภาพที่น่าทึ่ง โดยทั่วไปแล้ว เรขาคณิตมีบทบาทสำคัญในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม รูปทรงต่าง ๆ เช่น สี่เหลี่ยมจัตรัสและสี่เหลี่ยมมุมฉากทำให้เกิดลวดลายต่อเนื่องที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความพร้อมเพรียงและความเป็นระเบียบโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกัน รูปทรงสามเหลี่ยมสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนไปยังวัตถุได้เป็นอย่างดี ส่วนทรงกลมจะดึงความสนใจเข้ามา  

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 12 มม. | 1/200 วินาที | F6.3 | ISO 100

เพื่อให้สามารถทำการจัดวางองค์ประกอบของภาพได้ดีขึ้น เวรอนแนะนำมือใหม่ว่า “หากล้องที่เหมาะกับคุณ เรียนรู้เรื่องการจัดวางองค์ประกอบจากช่างภาพคนอื่น แล้วเริ่มถ่ายภาพเลยค่ะ!”  

3. เรียนรู้ที่จะค้นหาสไตล์ของตนเอง 

“เนื่องจากสถาปัตยกรรมเป็นโครงสร้างแบบตายตัว มุมมองใหม่ ๆ ที่นำเสนอจึงง่ายต่อการถูกคัดลอก การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจึงอาจถูกเลียนแบบได้ ซึ่งต่างจากการถ่ายภาพแนวสตรีทที่รอยยิ้มหรือฉากมีความเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น การค้นหาสไตล์ที่เป็นของคุณเองและหมั่นฝึกฝนฝีมือจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในสายอาชีพอย่างโดดเด่น” เวรอนกล่าว   

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 12 มม. | 1/200 วินาที | F14 | ISO 100

การค้นพบสไตล์ของเธอไม่ได้ทำสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน เวรอนก็เหมือนช่างภาพจำนวนมากที่เข้าสู่วงการการถ่ายภาพโดยใช้กล้องมือถือและมีความรู้เป็นศูนย์ เธอไม่เคยหยุดถ่ายภาพอีกเลยนับแต่นั้น จากภาพถ่ายทั้งหมดที่ถ่ายไปตลอดระยะเวลาหลายปี เธอยอมรับว่ามีภาพเสียจำนวนมากที่องค์ประกอบของภาพดูเหมือนว่าจะไม่ผ่านมาตรฐานที่เธอตั้งไว้ ขั้นตอนการเรียนรู้นี้และรวมถึงภาพที่คัดออกเองอีกจำนวนมหาศาลกลายเป็นส่วนสำคัญที่ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็นสไตล์ของเธอเองในที่สุด  

การลงมือทำและการฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอทำให้เธอมีฝีมือดีขึ้นเรื่อย ๆ เธอเรียนรู้ที่จะดูและถ่ายภาพสถาปัตยกรรมด้วยมุมมองที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ความก้าวหน้านี้ทำให้ช่างภาพคนอื่นปรารถนาที่จะใช้ผลงานของเธอเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดวางองค์ประกอบของภาพเพื่อที่จะพัฒนาสไตล์ของตนเองได้ในไม่ช้า   

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 12 มม. | 1/200 วินาที | F6.3 | ISO 100

สำหรับมือใหม่ เวรอนแนะนำให้ทำการสำรวจโลกของภาพถ่ายอย่างต่อเนื่อง และทดลองถ่ายภาพจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเองเพื่อเรียนรู้ว่างานในลักษณะใดที่เหมาะหรือไม่เหมาะกับตน “อย่าหยุดถ่ายภาพนะคะ ยิ่งทำผิดพลาดมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราได้รับความรู้มากขึ้นและจะค้นพบสไตล์ที่เป็นของเราเองได้อย่างรวดเร็วที่สุด ขอให้สนุกกับการกดชัตเตอร์ ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ค่ะ”  

Article Theme

Kami ingin meminta akses ke Geolokasi Anda untuk memberi Anda pengalaman yang disesuaikan. Perlu diketahui bahwa Anda dapat menarik persetujuan Anda kapan saja melalui pengaturan browser Anda.